บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมุนไพรรักษาอาการท้องร่วง


สมุนไพรรักษาอาการท้องร่วง
   ตำรายาพื้นบ้านของคนไทยภาคใต้ มักบันทึกลงในสมุดข่อยที่เรียกว่า “บุด” ผู้ที่สนใจศึกษาตำรายาแผนโบราณจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคำเฉพาะที่ใช้ในตำรายา เนื่องจากว่าสมุนไพรมีหลายร้อยชนิด และมียาหลายร้อยชนิดที่คนโบราณคิดค้นแล้วเขียนออกมาเป็นตำราให้คนรุ่นหลังศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์ สมุนไพรแต่ละชนิดมีรสและสรรพคุณแตกต่างกันไป
        เมื่อนำมาปรุงหรือผสมเป็นยาขนานใดขนานหนึ่ง ก็มักประกอบด้วยตัวยาหลากรส เพื่อให้สรรพคุณเสริมกันทำให้เกิดผลในทางบำบัดได้เร็ว เชื่อกันว่าเลือดและน้ำดีเป็นส่วนสำคัญต่อสมุฏฐานของโรคนานาชนิด ยากลางบ้านทุกชนิดจึงต้องมีรสขมเจือไว้ และมักมีตัวยาที่มีรสเบื่อเมาปนอยู่ด้วยเพื่อให้ถอนพิษ ต้องการให้มีสรรพคุณเด่นในทางใด ก็ให้มีส่วนผสมเด่นในทางนั้น รสของยากลางบ้านมักขื่นไม่น่ารับประทาน รสต่างกันสรรพคุณก็จะต่างกันด้วย คนโบราณได้แบ่งรสยาออกเป็น 3 รสกว้าง ๆ คือ
1. ยารสร้อน
ใช้เป็นยาประเภทขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง เช่น จำพวก ขิง ข่า พริกไทย ดีปลี เบญจกูล คนที สอทะเล กระเพราแดง กระวาน เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูฝน
2. ยารสเย็น
ใช้เป็นยาประเภทลดไข้ เช่น เกสรดอกไม้ต่าง ๆ ใบไม้ รากรากมะเฟือง ตำลึง สารภี รางจืด ใบพิมเสน รากลำเจียก เมล็ดฝักข้าว ไม้ เขี้ยว งา เขา นอ เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูร้อน
3. ยารสสุขุม
ใช้เป็นยาแก้ลมหน้ามืด ใจสั่น เช่น โกฐต่าง ๆ เทียน กฤษณา อบเชย จันทน์เทศ ชะลูด เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูหนาว
นอกจากนี้ยังมีรสย่อย ๆ อีก 10 รส คือ
1. รสฝาด มักมีสาร TANIN เป็นองค์ประกอบ มีสรรพคุณทางสมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด บำรุงธาตุ เช่น เปลือกมังคุด ลูกหว้า ผลมะตูมอ่อน ใบฝรั่ง ใบชา ฯลฯ
2. รสหวาน มีสรรพคุณทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เช่น แก่นขนุน รากชะเอม น้ำอ้อยสด เหง้าสับปะรด ดอกคำฝอย ฯลฯ
3. รสเมาเบื่อ มีสารพวก GLYCOSIDES และ ALKALOIDS รับประทานเข้าไปมักเกิดอาการมึนงง กดประสาท มีสรรพคุณใช้แก้พิษ แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ใบกระท่อม ฝิ่น กัญชา ดอกลำโพง เปลือกข่อย รากทับทิม รากมะเกลือ ฯลฯ
4. รสขม มีสารพวก ALKALOIDS เป็นองค์ประกอบ มีสรรพคุณสำหรับบำรุงโลหิตและดี แต่ถ้าใช้มาก จะแสลงโรคหัวใจพิการ เช่น ดอกขี้เหล็ก มะระ ผักโขม รากปะทัดจีน ผลสะเดา เถาบอระเพ็ด โกฐสอ ฯลฯ
5. รสเผ็ดร้อน มีสารพวก RESIN, OLLEORESIN, GLYCOSIDES และมีสารประกอบ PHENOLS บางชนิด เป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ บำรุงธาตุ บรรเทาอาการช้ำบวม เคล็ดขัดยอก แสลงกับโรคพิษร้อน เช่น พริก ขิง ข่า ไพล เม็ดเทียนขาว เจตมูลเพลิง ช้าพลู พิลังกาสา มะขาม กานพลู ฯลฯ
6. รสมัน มีสารพวกไขมัน น้ำมัน เป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย แสลงกับโรคดีซ่าน ไอเสมหะ เช่น งาดำ เมล็ดมะขาม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ
7. รสหอมเย็น มีสารน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบสำคัญ สรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ อ่อนเพลียบำรุงครรภ์ แสลงกับโรคในลำไส้ เช่น เตยหอม เบญจมาศ ดอกมะลิ พิกุล บุนนาค ดอกขจร รากมะกรูด ผักกะเฉด ฯลฯ
8. รสเค็ม มีสารพวกเกลือเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณรักษาโรคผิวหนังเปื่อย เน่า น้ำเหลืองเสีย บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แสลงโรคกระเพาะอาหารพิการ เช่น เปลือกต้นมะเกลือ รากไผ่ ใบโคกกระสุน ใบเหงือกปลาหมอ ใบหอม ใบกระชาย ฯลฯ
9. รสเปรี้ยว มีสารพวกกรดหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้เสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ กระหายน้ำ บำรุงผิว แสลงกับโรคท้องร่วง เช่น กระเจี๊ยบ รากพิลังกาสา ส้ม มะนาว มะปราง มะกอก มะอึก ส้มเสี้ยว ส้มเช้า ฯลฯ
10. รสจืด มีธาตุประเภทต่าง ๆ ได้แก่เกลือโปแตสเซี่ยมเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน เช่น ใบตำลึง ใบผักบุ้ง รักขาวเถารางจืด รากตะไคร้ น้ำ ละหุ่ง ฯลฯ
เนื่องจากยามีมากมายหลายร้อยชนิด ผู้ศึกษาตำรายาต่าง ๆ อาจจำกันไม่ได้หมด คนโบราณจึงหาวิธีการที่จะให้จำตัวยาได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นโดยการเรียกหรือจัดพวกของสมุนไพรเพื่อที่จะนำไปใช้เป็นยาเอาไว้ เพื่อให้จดจำง่ายสะดวกแก่การเขียนตำรายา ในตำราแพทย์แผนไทยเรียกว่า “คณาเภสัช” หรือ “พิกัดยา” ไว้ โดยแบ่งเป็น 3 จำพวกดังนี้
1. จุลพิกัด หมายถึง การกำหนดเอาตัวยาที่มีชื่อเหมือนกัน 2 อย่างมารวมกันในขนาดที่เท่ากัน แต่มีส่วนที่ต่างกัน คือ
1.1 ต่างกันที่เกิด เช่น ชะเอมทั้งสอง คือ ชะเอมไทย – ชะเอมเทศ
1.2 ต่างสี เช่น คนทีทั้งสอง คือ คนทีสอขาว – คนทีสอดำ
1.3 ต่างขนาด เช่น เร่วทั้งสอง คือ เร่วน้อย – เร่วใหญ่
1.4 ต่างชนิด เช่น ตำแยทั้งสอง คือ ตำแยตัวผู้ – ตำแยตัวเมีย
1.5 ต่างรส เช่น มะปรางทั้งสอง คือ มะปรางเปรี้ยว – มะปรางหวาน
2. พิกัดยา หมายถึงการกำหนดตัวยาที่มีชื่อไม่เหมือนกันหลายชนิดมารวมกัน ในขนาดที่เท่ากัน อาจเป็นตัวยา 2 – 9 ชนิด ตัวอย่างเช่น
3 ชนิด เรียก “พิกัดตรี” เช่น พิกัดตรีผลา (ผลไม้ 3 อย่าง) คือ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก ลูกมะขามป้อม
5 ชนิด เช่น พิกัดจันทน์ทั้ง ๕ ได้แก่ แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์จันทนา แก่นจันทน์เทศ
9 ชนิด เช่น พิกัดเนาวหอย (หอยทั้ง ๙) ใช้เปลือกหอย 9 ชนิดเผา ได้แก่ หอยขม หอยแครง หอยตาบัว หอยพิมพาการัง หอยนางรม หอยกาบ หอยจุ๊บแจง หอยมุก หอยสังข์ ฯ ล ฯ
3. มหาพิกัด มีความหมายทำนองเดียวกับพิกัดยา แต่ขนาดไม่เท่ากัน
ลักษณะของคณาเภสัชเป็นประโยชน์ในการช่วยจำ สะดวกแก่การปรุงยา และลดการเขียนในตำรายา แต่ละพิกัดจะต้องมีสรรพคุณคล้ายกัน โดยพิจารณาที่รส ว่าจะต้องไม่ขัดกัน สรรพคุณของแต่ละพิกัดนั้นคือสรรพคุณรวมของตัวยาแต่ละอย่างในพิกัดทั้งสิ้น ส่วน “มหาพิกัด” คือการนำตัวยาหลายตัวมารวมกันในพวกเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะรักษาโรคใดเด่น ก็จะใช้ตัวยาเพื่อการรักษานั้นให้มีสัดส่วนมากกว่าตัวยาอื่น
ตัวอย่างสรรพคุณยาในพิกัดเฉพาะอย่าง
พิกัดตรีผลา ลูกสมอไทย รสขม แก้โลหิต น้ำดี ระบายธาตุ ลูกสมอพิเภกแก่ รสฝาด แก้กองธาตุ แก้ไข้ แก้โรคตา ลูกมะขามป้อม รสฝาดเปรี้ยว แก้เสมหะ ลมแก้ไข้
สรรพคุณรวมคือ แก้โรคเกิดจากดีเสมหะ ลมในกองธาตุฤดู และอายุสมุฏฐาน
พิกัดเบญจกูล รากเจตมูลเพลิง รสร้อน กระจายกองลมและโลหิต รากสะค้าน รสร้อน แก้ลมอันเกิดแต่กองวาโยธาตุพิการ รากช้าพลู รสร้อน แก้คูถเสมหะ แก้ลม แก้เมื่อย เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ด แก้ไข้ แก้ลมพานลำไส้ พรรดึก ดอกดีปลี รสเผ็ดชวนขม แก้ลม ปัถวีธาตุพิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น