บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่


สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่
ที่มา : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามกอหญ้าทั่วทุกภูมิภาค มีลำต้นสูงประมาณ 1-5 ฟุต  ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนนุ่ม ใบมีลักษณะรูปไข่รี ปลายแหลม มีดอกเล็กกลมเป็นพู่เป็นช่ออยู่ปลายยอดมีสีม่วงหรือชมพู ช่วงปลายจะเปลี่ยนเป็นสีขาวพู่แตกบาน สามารถปลิวไปตามลม แล้วเจริญต่ออีก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิ เสือสามขา หญ้าหมอน้อย หญ้าสามวัน หญ้าละออง หรือ ต้นม่านพระอินทร์  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Vernonia cinerea Less.
ในสมัยโบราณชาวบ้าน นำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ เช่น นำลำต้นมาต้ม เอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ปวดท้องเฟ้อท้องอืด ผลการบวมของแผลที่อักเสบ หรือนำใบมาตำให้ละเอียดมาพอกแผล เพื่อช่วยสมานแผล วนเมล็ดที่ดอกยังสามารถตำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อน ช่วยขับพยาธิ แก้ปัสสาวะขัด รวมไปถึงช่วยรักษาไอเรื้อรังได้
  การนำสมุนไพรหญ้าดอกขาวเพื่อเลิกบุหรี่ เป็นองค์ความรู้ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่มีคนนำมาใช้น้อยมาก เนื่องจากขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยในมนุษย์  จนเริ่มมีข้อมูลงานวิจัยในสมุนไพรหญ้าดอกขาวในห้องปฏิบัติการ ว่าสามารถช่วยต้านการอักเสบ  ลดปวด และลดไข้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดหญ้าดอกขาวมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ยับยั้งการอักเสบ
(anti-inflammation) ลดปริมาณไขมันที่ถูกออกซิไดส์ (anti-lipid peroxidation) ในหนูทดลอง ประโยชน์ในการนำมาใช้ในการเลิกบุหรี่ (smoking cassation) ในประเทศไทย ได้มีการศึกษานำร่อง โดยทีมวิจัย รศ.ดร.ภก.ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ ในกลุ่มคนที่ติดบุหรี่ ที่สถาบันธัญญาลักษณ์ จังหวัดปทุมธานี ภายในการสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ และ สสส. พบว่าสามารถช่วยจำนวนคนสูบบุหรี่ได้ดี
จากงานวิจัยการนำสมุนไพรหญ้าดอกขาวเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.ดลรวี ลีลารุ่งระยับ และคณะ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก ศจย. และ สสส. เมื่อปี พ.ศ. 2551 พบว่าสมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบเคี่ยวและใช้ในลักษณะอมแล้วดื่มก่อนการสูบบุหรี่ทุกคร้ง ซึ่งมีฤทธิ์ที่เด่นชัดคือ หลังการอมแล้วจะทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปทันทีหลังการใช้ครั้งแรกและคร้งต่อๆ ไป ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ในที่สุดและลดจำนวนมวนในการสูบบุหรี่ต่อวันได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 อาทิตย์ ไม่ว่าจะสูบหนักหรือเบามาก่อนก็ตาม
จากงานวิจัยพบว่าหากใช้ติดต่อกันนาน 2 เดือน สามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ถึง 60% และหากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย จะสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงถึง 62% และที่สำคัญช่วยทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ถึง 60-70% หากใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย ผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบเคี่ยว นอกเหนือจากจะทำให้เลิกบุหรี่แล้ว ยังมีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น เลือดจะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ที่คั่งค้างในปอดลดลงอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญมีผลข้างเคียงในการเลิกบุหรี่ เช่น กระวนกระวาย สมาธิแปรปรวนหรือหงุดหงิดน้อยมาก
      และในปัจจุบันทีมงานวิจัยได้มีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านสารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยเสริมคุณประโยชน์ของสมุนไพรหญ้าดอกขาวในรูปแบบการเคี่ยว โดยทุนวิจัยจาก ศจย. และ สสส. ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2553 พบว่าในแต่ละส่วนของหญ้าดอกขาวมีสารสำคัญที่แตกต่างกัน โดยที่โดดเด่นคือ ใบ จะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (total antixidant capacity) ที่สูงที่สุด โดยมีสารประเภทฟีนอลิก (total phenolics) และสารกลุ่ม Catechin, Flavonoid, Isoflavone เมื่อเปรียบเทียบกับดอก และก้าน นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญที่อาจเป็นคำตอบของสมุนไพรหญ้าดอกขาวในการช่วยเลิกบุหรี่คือ ในสารสกัดหยาบจากใบและดอกที่ได้จากการเคี่ยวมีสารสำคัญคือ นิโคติน (nicotine) ในปริมาณต่ำ
ดังนั้นในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ที่ค่อยๆ เลิกบุหรี่ได้ โดยไม่มีอาการข้างเคียงนั้น อาจเป็นผลมาจากมีการทดแทนของสารนิโคตินในกระแสเลือดไม่ให้ขาดหายไปทันที แต่อย่างไรก็ตามการเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุด นอกจากกการใชสมุนไพรหญ้าดอกขาวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันไปออกกำลังกายแล้ว ร่วมกับความตั้งใจเพื่อตนเองหรือบุคคลที่คุณรักจะช่วยเสริมทำให้เลิกบุหรี่ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
วิธีการเตรียมสมุนไพรและการใช้เพื่อเลิกบุหรี่:
วิธีที่ 1. เคี่ยว วิธีที่ 2. ชาชง ความปลอดภัย
  จากโครงการวิจัยเรื่องศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดหญ้าดอกขาวและผลต่อระบบประสาทสัตว์ทดลองเพื่อการเลิกบุหรี่ โดย ดร.ชุลีรัตน์ บรรจงลิขิตกุลและคณะ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก ศจย. และ สสส.ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดหญ้าดอกขาวส่วนต่าง ๆ  ในวิธีสกัดที่ต่างกันอย่างน้อยจำนวน 5 ตัวอย่างและศึกษาผลต่อระบบประสาทหนูขาว ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลิกบุหรี่ในสัตว์ทดลอง ผลการศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นของสารสกัดหญ้าดอกขาว (น้ำเคี่ยว) ส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ดอก ก้าน ใบและผสม  (ดอก+ก้าน+ใบ)
ในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูงจากการกินและการซึมผ่านทางผิวหนัง ไม่มีผลต่อการก่อความระคายเคืองผิวหนัง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ช่วยการอดบุหรี่จากน้ำเคี่ยวหญ้าดอกขาวส่วน ดอก ก้าน ใบ หรือส่วนผสม สรุปได้ว่ามีความปลอดภัยสูงทั้งจากการกินและการดูดซึมทางผิวหนัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น