สมุนไพรช่วยระบายเเก้ท้องผูก
สมุนไพรรักษาอาการท้องผูก ใช้ให้ถูกกับสาเหตุและอาการ
อาการท้องผูกหรือถ่ายยาก ต้องนั่งส้วมนานกว่าปกติเนื่องจากอุจจาระแข็งทำให้ต้องใช้เวลานานในการขับถ่ายอุจจาระ อาการท้องผูกมักเกิดกับคนที่ดื่มน้ำน้อย ขาดการออกกำลังกาย กินแต่อาหารจำพวกเนื้อสัตว์และแป้งซึ่งอาหารจำพวกนี้มักจะย่อยยากอยู่แล้ว ความเร่งรีบในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา ชอบกลั้นอุจจาระและความเครียดจากการทำงานก็ล้วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ทั้งสิ้น
ในวันหนึ่งๆเพื่อป้องกันอาการท้องผูกคนเราควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณวันละ 2 ลิตร พยายามลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และแป้งลงแล้วเปลี่ยนเป็นกินผัก-ผลไม้หรืออาหารที่มีกากใยสูง(Fiber) ลดความเร่งรีบในชีวิตประจำวันลงด้วยการรู้จักวางแผนการทำงานเพื่อจะได้มีเวลาออกกำลังกาย ขับถ่ายอุจจาระและพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากจำเป็นต้องใช้ยาระบายเพื่อช่วยในการขับถ่ายควรใช้ยาระบายที่เป็นสมุนไพรและอ่านรายละเอียด สรรพคุณ ตลอดจนวิธีการใช้สมุนไพรให้เข้าใจเสียก่อน
หลักการเลือกใช้สมุนไพรเพื่อรักษาอาการท้องผูก หากอาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อยควรเลือกใช้สมุนไพรที่ช่วยเป็นยาระบายและเพิ่มกากใยอาหารซึ่งมีโมเลกุลใหญ่เช่น เม็ดแมงลัก กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก หากอาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากการกลั้นอุจจาระ ลำไส้ใหญ่ไม่บีบตัว ลำไส้ไม่ค่อยทำงานเช่น ผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆ ขาดการออกกำลังกายและคนทำงานที่เคร่งเครียดควรใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบายและช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เช่น มะขามแขก ชุมเห็ดเทศ ฯลฯ
สมุนไพรอีกกลุ่มที่มีคุณสมบัติเป็นยาระบายชนิดเป็นกรดหรือเกลือ ด้วยความเป็นกรดหรือเกลือของสมุนไพรจะทำให้มีผลต่อระดับความเป็นกรด-ด่างในระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนไปและเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของระบบทางเดินอาหารร่างกายจึงต้องขับเอาน้ำเข้ามาในระบบทางเดินอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดการระบายท้องได้ สมุนไพรที่มีคุณสมบัติประเภทนี้คือ มะขามเปียก
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเพื่อเป็นยาระบายท้องคือ ควรใช้เท่าที่จำเป็นและใช้สมุนไพรเพื่อระบายท้องด้วยความระมัดระวัง อย่าใช้สมุนไพรเพื่อการระบายท้องติดต่อกันนานเกิน 1 อาทิตย์เพราะจะทำให้ลำไส้และระบบขับถ่ายเกิดความเคยชินกับการใช้ยาสมุนไพรเพื่อระบายท้อง หากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้เกิดผลเสียคือ เมื่อหยุดใช้สมุนไพรเป็นยาระบายแล้วลำไส้และระบบขับถ่ายจะไม่ยอมทำงานตามปกติ ทำให้ต้องใช้ยาระบายเป็นประจำและต้องเพิ่มขนาดของยาสุมนไพรมากขึ้นอีกด้วย.
ที่มา thai-herbs-for-goodhealth.blogspot.com/2010/01/blog-post.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น